top of page
Search

5 วิธีสำหรับการทำงานช่วง WFH

Updated: Apr 13, 2020

ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่ผ่านมา หลายๆ บริษัท หลายๆ องค์กร เริ่มประกาศออกมาให้พนักงาน ทำงานจากที่บ้าน แบบ Work From Home หรือเรียกย่อๆ ว่า WFH เพื่อเลี่ยงโอกาสการออกมาเจอะเจอเชื้อไวรัสโคโรน่า โควิด-19 อ่ะ แบบที่ช่วงนี้รณรงค์ "อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ" กันนั่นเอง

.

เอาเป็นว่าวันนี้เราไม่วนเวียนเขียนเกี่ยวกับโรคนี้นะครับ เราจะชวนคุณมาต่อยอดตัวเอง ในสถานการณ์ที่มันไม่ปกตินั่นเอง ด้วยวิธีคิดสไตล์ Design Thinking สำหรับ "ตัว" คุณเอง ในช่วง COVID-19 ระบาดอยู่จ้า กับ 5 ขั้นตอนง่ายๆ พร้อมตัวอย่างประกอบ จะได้เข้าใจกันง่ายยิ่งขึ้น

.

.

ขั้นที่ 1: ตื่นตัว ย้ำว่าขั้นนี้คือ ตื่นตัว ไม่ใช่ ตื่นตูม!! กรุณาอย่าเข้าใจผิดว่า ตื่นตัว = ตื่นตูม เด็ดขาดจ้า เพราะคำว่า #ตื่นตัว เป็นคำกริยา แปลว่าไหวทันเหตุการณ์ หรือรู้ตัวทันเหตุการณ์ ส่วน #ตื่นตูม เป็นคำกริยา แปลว่า ตกใจโดยไม่ได้พิจารณา ถ้าเข้าใจความหมายนี้แล้ว มาดูขั้นนี้เราต้องทำอะไรบ้าง ก็คือการเลือกรับรู้ข่าวสารอย่างมีสติ เลิกเถอะ และถือว่าขอเถอะ การอ่าน(หรือเปล่าก็ไม่รู้) แล้ว กดแชร์หรือส่งต่อทางโซเชียลเกี่ยวกับข่าวที่มันมั่วซั่ว ในห้วงช่วงนี้คงรับข่าวที่เป็นจริง ขั้นตอนนี้ทำเพื่อให้คุณจะได้ตามทันและรู้ทันกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั่นเอง

.

ขั้นที่ 2: รู้ตัว เมื่อรู้แล้วว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น คราวนี้ก็มาลองสำรวจตัวเอง จากช่วงเวลานี้มีอะไรเกิดขึ้นกับเราบ้าง เช่น ต้องกลับมาทำงานที่บ้านระยะยาวเป็นเดือนๆ อุปกรณ์ทำงานของเราพร้อมหรือยัง โน้ตบุค คอมพิวเตอร์ ใช้อินเตอร์เน็ตมือถือหรือ WiFi แม้แต่ทำเลที่นั่งทำงานในบ้านเราได้เตรียมยัง หรือเรื่องปากท้อง เราก็ต้องเตรียมให้พร้อม จะกินอะไรยังไง จะเดินไปซื้อ สั่งมาส่ง หรือทำกินเอง พวกนี้ก็ต้องวางแผนด้วย เมื่อรู้ว่าอะไรเรายังไม่พร้อม ไม่ครบ ไม่เหมาะ ก็ต้องจัดเตรียมให้พร้อมรบกับงานของเรา ในสมรภูมิการทำงานที่บ้านนั่นเอง ขั้นตอนนี้ทำเพื่อให้คุณจะได้ประเมินหรือเดาว่าจะกระทบอะไรกับตัวได้บ้าง

.

ขั้นที่ 3: ฝืนตัว ในบรรดา 5 ขั้นตอน นี่เป็น 1 ใน 2 ที่สำหรับผม ผมว่ายากสุดๆ เลย เพราะด้วยเหตุการณ์เปลี่ยนไป สถานที่เปลี่ยนไป รูปการแบบการทำงานเปลี่ยนไป พอเจอการเปลี่ยนแปลงแบบปุ๊บปั้บรับโชคเนี่ย #หลายคนจะเข้าสู่โหมดจำใจ พอจำใจก็เริ่มมีความไม่อยากทำนู้น ไม่อยากทำนี่ ไม่อยากทำนั่น เบื่อหน่ายหายขยัน จากคนเคยแอ็คทีฟเริงร่า ก็เหี่ยวเฉาเดาไม่ถูก สิ่งที่ควรต้องทำ คือ บอกกับตัวเองเสมอ เรายังต้องทำงานอยู่ เราโชคดีแค่ไหนแล้วที่ยังมีงานทำ และที่สำคัญนี่เป็นช่วงเวลาที่แสนท้าทายและแสนพิเศษ ในการแสดงให้หลายๆ คนเห็นว่าเรามีความรับผิดชอบและสามารถทำงานได้ดีเหมือนเดิม เราต้องลองฝืนตัวเองบ้างนะครับ เพราะเราคุมทุกอย่างบนโลกนี้ไม่ได้ ขั้นตอนนี้ทำเพื่อให้คุณได้ฝึกบอกกับตัวเองว่าเราต้องเปลี่ยนได้เสมอกับทุกสถานการณ์

.

ขั้นที่ 4: ปรับตัว ขั้นนี้เป็นอีก 1 ในความยากโคตรเลยล่ะครับ พอเราตั้งใจจะฝืนตัวเองในความคิด หรือในใจของเราแล้ว การลงสนามทำจริง มันเป็นภาคปฏิบัติของจริง คุณต้องทำสิ่งที่เตรียมไว้ในข้อก่อนๆ หน้า มาทำให้หมด หรือเป็นไปได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็น สิ่งที่ควรจะเห็นจากการทำในข้อนี้ จะเจออยู่ 2 อย่าง ได้แก่ ปัญหาที่เกิดขึ้น และสิ่งที่คุณโอเค หรืออาจจะชอบกับมันระหว่างการทำงานแบบ Work From Home นั่นเอง จดทุกอย่างที่เกิดขึ้นไว้ในกระดาษ กรุณาอย่าจำ!! เพราะคุณจำได้ไม่หมดหรอกครับ เขียนมันออกมาพร้อมคำอธิบายด้วย ขั้นตอนนี้ทำเพื่อให้คุณจะได้รู้ว่าเมื่อลงมือทำแล้ว มันมีอะไรเกิดขึ้นที่กระทบกับตัวคุณบ้าง

.

ขั้นที่ 5: ทวนตัว ขั้นตอนสุดท้ายก็คือเอาที่คุณจดออกมาทั้งหมด หาเวลาว่างๆ ชิลๆ สบายๆ ลองอ่านแบบไร้ความอคติ อ่านให้ละเอียดให้รู้ว่าที่เราเขียนแบบนั้นมันเพราะอะไร แล้วจัดกลุ่มแบ่งก้อนดูว่าเรื่องนี้คล้ายกัน เรื่องนี้เหมือนกัน เอามาอยู่ในหมวดเดียวกัน คราวนี้ต้องมาคุยกับตัวเองแล้วว่า Work From Home ที่เราเขียนบ่นขิงบ่นข่าเนี่ย เป็นเรื่องจากตัวเราเอง (ควรควบคุมได้) เช่น ไม่ชินกับการทำงานแบบนี้ เก้าอี้นั่งไม่สบาย กินข้าวไม่ตรงเวลา นอนตื่นวายกว่าเดิม เป็นต้น หรือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่ตัวเรา อาทิ ประชุมงานยากขึ้น ประสานงานกับใครไม่ได้เลย ระบบงานของออฟฟิตเข้าจากที่บ้านยาก ขั้นตอนนี้ทำเพื่อให้คุณคุยกับตัวเอง แล้วจำแนกแยกเรื่องราวที่เกิดขึ้น และท้ายสุดต้องคุยกับตัวเองว่า เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

.

พอทำทั้ง 5 ข้อเสร็จ ก็ต้องเริ่มจากข้อแรกใหม่เสมอ เพราะการทำคิดแบบ design thinking มันไม่มีวันสิ้นสุดแบบจบวันนี้ เวลานี้หรอกนะครับ ถ้าอยากทำทุกอย่างให้ดีขึ้น ก็ต้องหมั่นปรับปรุงให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ Work From Home เป็นแค่ 1 วิธีการทำงาน อย่าเอาวิธีการทำงานมาทำร้ายและทำลายความรับผิดชอบงาน ความใส่ใจในงาน หรือความขยันในการทำงานของคุณนะครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้นะครับ Fighto! Fighto!

26 views

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page